โรคต่อมลูกหมากโต คืออะไร
ต่อมลูกหมาก คือ อวัยวะในระบบสืบพันธุ์เพศชาย อยู่ด้านหลังคอกระเพาะปัสสาวะในอุ้งเชิงกรานบริเวณหลังกระดูกหัวหน่าว ทำหน้าที่สร้างของเหลวสีขาวคล้ายนม ที่เป็นส่วนผสมของน้ำอสุจิที่มีกลิ่นเฉพาะตัว สารสีขาวคล้ายนม ที่หลั่งออกมานี้จะเป็นเบสอ่อนๆ ช่วยให้เหมาะสมกับสภาพของอสุจิ ลดความเป็นกรดเมื่ออสุจิเคลื่อนผ่านท่อปัสสาวะและช่วยให้อสุจิแข็งแรงและว่องไวในการเคลื่อนที่ขึ้น
โรคต่อมลูกหมากโต ( Benign Prostatic Hyperplasia : BPH )เป็นโรคที่พบได้บ่อยในผู้ชายสูงอายุ ซึ่งเกิดจากเซลล์ในต่อมลูกหมากเจริญเติบโตมากผิดปกติ ซึ่งเซลล์เหล่านี้จะห่อหุ้มท่อปัสสาวะส่วนต้นไว้ เมื่อเซลล์โตมากๆ จะกดเบียดท่อปัสสาวะให้ตีบแคบลง ส่งผลให้การปัสสาวะลำบาก ปวดปัสสาวะบ่อย หรือ ปวดขัด รวมไปถึงมีอาการรุนแรงคือ การปัสสาวะเป็นเลือด
ส่วนโรค มะเร็งต่อมลูกหมาก (Prostate Cancer) นั้น จะเป็นอาการผิดปกติของการเจริญเติบโตของเซลล์และเนื้อเยื่อในต่อมลูกหมากแบบรวดเร็ว มีการแพร่กระจายลุกลามไปยังอวัยวะอื่นๆรอบต่อมลูกหมากได้ เช่น ต่อมน้ำเหลือง กระดูก ตับ ปอด ทำให้เกิดอาการต่างๆตามมาและทำให้เสียชีวิตได้
โดยส่วนใหญ่คนที่ตรวจพบโรคต่อมลูกหมากโต แพทย์จะทำการตรวจหาสาร PSA และทำการตัดชิ้นเนื้อด้วยเข็มเล็กๆ ในต่อมลูกหมากเพื่อส่งตรวจหาเซลล์มะเร็งต่อไป ดังนั้น คนเป็นโรคต่อมลูกหมากโต จึงไม่จำเป็นต้อง เป็น โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก เสมอไปคะ ซึ่งสาเหตุของโรคต่อมลูกหมากโตมีดังนี้
สาเหตุของโรคต่อมลูกหมากโต
สาเหตุของโรคต่อมลูกหมากโต นั้น ทางการแพทย์ยังไม่สามารถระบุได้แน่ชัด แต่พบว่ามีปัจจัยเสี่ยงหลักๆ ที่ทำให้เกิดโรค ได้แก่
- อายุ ยิ่งอายุมากขึ้น โอกาสเกิดโรคต่อมลูกหมากโตยิ่งสูงขึ้น เพราะ
ส่วนใหญ่โรคต่อมลูกหมากโตนั้น พบบ่อยในเพศชายที่เริ่มเข้าสู่วัยทอง หรือ ผู้ชายสูงอายุที่อายุตั้งแต่ 50-60 ปีขึ้นไป รวมทั้งมีโอกาสตรวจพบโรคมะเร็งต่อมลูกหมากสูงขึ้นตามอายุเช่นกัน
- พันธุกรรม มีความสัมพันธ์กับการเกิดโรค เช่น ผู้ที่มีพ่อหรือพี่น้อง (บุคคลใน
ครอบครัวสายตรง) เป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก ก็มักจะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้ได้มากกว่าคนทั่วไปประมาณ 3 เท่า
- อาหาร พฤติกรรมการรับประทานอาหารมีความสัมพันธ์กับ โรคต่อม
ลูกหมากโต และ โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวได้แก่ การรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง อาหารที่ให้พลังงานสูง และการรับประทานเนื้อแดงอย่างต่อเนื่อง แต่การบริโภคผักและผลไม้น้อยเกินไป
- ภาวะน้ำหนักเกิน หรือ ความอ้วน โดยเฉพาะมะเร็งต่อมลูกหมากจะพบได้
บ่อยในคนอ้วน และมีผลต่อความยากในการรักษา คนอ้วนมักจะรักษาโรคได้ยากกว่าคนที่น้ำหนักปกติ และคนอ้วนมักตรวจพบมะเร็งชนิดที่ร้ายแรงมากกว่า โดยมีงานวิจัยเกี่ยวกับ โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก พบว่า โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก มีความสัมพันธ์กับการเป็นโรคอ้วน และสามารถเพิ่มความรุนแรงของโรคและส่งผลให้การรักษายุ่งยากมากว่าคนปกติ
อาการและอาการแสดง
อาการและอาการแสดงของโรคต่อมลูกหมากโต ในผู้ป่วยแต่ละรายจะแตกต่างกัน เพราะโดยปกติแล้วต่อมลูกหมากจะมีการเปลี่ยนแปลงตามวัย คือ มีขนาดโตขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น แต่อาการของโรคต่อมลูกหมากโตจะไม่สัมพันธ์กับขนาดของต่อมลูกหมาก เช่น บางคนต่อมลูกหมากโตไม่มากแต่มีอาการมาก ซึ่งขึ้นกับปัจจัยอื่นๆด้วย เช่น โรคประจำตัว ความอ้วน พฤติกรรมเสี่ยง แต่ทั้งนี้ อาการนำที่ตรวจพบจะคล้ายๆ กันดังนี้
- อาการปัสสาวะลำบาก
- ปัสสาวะไม่ออกในทันทีหรือค่อยเป็นค่อยไป ต้องออกแรงเบ่ง หรือรออยู่นานกว่าจะถ่ายปัสสาวะออกมาได้ ทำให้ใช้เวลาในการถ่ายปัสสาวะนาน
- ปัสสาวะไม่พุ่ง ไหลช้า ปัสสาวะกะปริดกะปรอย ถ่าย ๆ หยุด ๆ หลายครั้ง
- ปัสสาวะออกเป็นหยด ๆ ในช่วงท้ายของการถ่ายปัสสาวะ
- ลำปัสสาวะเบี้ยวหรือเล็กลง มีความรู้สึกเหมือนถ่ายปัสสาวะไม่สุด ทำให้
อยากปัสสาวะอยู่เรื่อย ๆ และปัสสาวะบ่อยห่างกันไม่ถึง 1-2 ชั่วโมง หลังเข้านอนตอนกลางคืนต้องลุกขึ้นมาปัสสาวะบ่อย ๆ มากกว่า 1-2 ครั้ง ส่วนในเวลากลางวันก็มีอาการปัสสาวะบ่อยเช่นกัน เพียงแต่ผู้ที่เริ่มมีภาวะต่อมลูกหมากโตจะปรับตัวได้จนไม่รู้สึก นอกจากนี้เวลารู้สึกปวดปัสสาวะจะต้องรีบเข้าห้องน้ำทันที เพราะไม่สามารถกลั้นปัสสาวะได้ เป็นต้น
อาการดังกล่าว จะค่อยๆ เป็นมากขึ้น จนกระทั่งต่อมลูกหมากโตขึ้นจนไปกด
เบียดท่อปัสสาวะอย่างรุนแรง จนปัสสาวะไม่ออกทั้งๆที่มีความรู้สึกปวดอยากถ่ายปัสสาวะ และเมื่อมาที่โรงพยาบาลแพทย์จะตรวจพบว่า ผู้ป่วยอยากถ่ายปัสสาวะแต่ไม่สามารถทำได้ เมื่อคลำหน้าท้องก็จะพบว่า กระเพาะปัสสาวะมีปัสสาวะคั่งเต็ม นอกจากนี้ที่อันตรายมาก คือ ผู้ที่ป่วยเป็นโรคต่อมลูกหมากโตบางราย มีอาการถ่ายปัสสาวะเป็นเลือดร่วมด้วย เนื่องจากปัสสาวะไม่ออกแล้วเบ่งถ่ายปัสสาวะนานๆ แล้วทำให้เส้นเลือดดำที่ท่อปัสสาวะคั่งแล้วแตกจนมีเลือดออกมาได้ ซึ่งจะต้องรีบทำการรักษา เพื่อป้องกันอันตรายและภาวะแทรกซ้อนต่อไปดังนี้
การรักษาโรคต่อมลูกหมากโต
การรักษาโรคต่อมลูกหมาก แพทย์จะทำการตรวจร่างกายและวินิจฉัยโรค ได้โดยการซักประวัติ สอบถามอาการและอาการแสดง จากนั้นก็จะทำการตรวจโดยการคลำต่อมลูกหมากผ่านทางทหารหนัก ซึ่งการคลำนี้ แพทย์จะสวมถุงมือและใช้สารหล่อลื่นสอดนิ้วเข้าไปในรูทหารหนัก แล้วคลำดูว่า ต่อมลูกหมากมีลักษณะโตผิดปกติหรือไม่ ซึ่งขั้นตอนนี้ มีความสำคัญคือ ในช่วงที่คลำ ถ้าคลำแล้วต่อมลูกหมากโตแต่ผิวเรียบแพทย์จะวินิจฉัยในเบื้องต้นว่า เป็นต่อมลูกหมากโต แต่ถ้าคลำแล้วเป็นต่อมลูกหมากโตแบบผิวขรุขระ ไม่เรียบ ค่อนข้างแข็ง แพทย์จะสงสัยไว้ก่อนว่า อาจเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก ซึ่งจะต้องตรวจเลือดทดสอบสาร PSA (Prostate-Specific Antigen – PSA) แล้วทำการตัดชิ้นเนื้อด้วยเข็มเล็กๆ ในต่อมลูกหมากเพื่อส่งตรวจหาเซลล์มะเร็งต่อไป รวมไปถึงการตรวจพิเศษอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น
– การถ่ายภาพรังสีทางเดินปัสสาวะโดยการฉีดสารทึบแสงเข้าทางหลอดเลือดดำ (Intravenous urography – IVU) ซึ่งจะทำให้เห็นตำแหน่งและความรุนแรงของการอุดกลั้นปัสสาวะ
– การตรวจอัลตราซาวด์ (Ultrasound) ผ่านทางทวารหนัก ที่สามารถทำให้เห็น
ต่อมลูกหมาก ไต และกระเพาะปัสสาวะได้
– การใช้กล้องส่องตรวจกระเพาะปัสสาวะ (Cystoscopy) เพื่อดูต่อมลูกหมาก กระเพาะปัสสาวะ ซึ่งเป็นการตรวจที่ได้ข้อมูลมาก
– การตรวจวัดความแรงของปัสสาวะ (Uroflowmetry) เพื่อดูว่าทางเดินปัสสาวะถูกอุดตันมากน้อยแค่ไหน เป็นต้น
– การตรวจปัสสาวะเพื่อดูการติดเชื้อหรือเลือดออก
– ตรวจระดับ ครีอะตินีนในเลือดเพื่อดูภาวะไตวาย เป็นต้น ซึ่งเมื่อตรวจและวินิจฉัยแล้ว มีขั้นตอนการรักษาดังนี้
- การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เพื่อบรรเทาอาการ ร่วมกับการใช้ยา เช่น ผู้ที่มีอาการปัสสาวะบ่อย อาจต้องหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำในปริมาณมากๆก่อนนอน หลีกเลี่ยงการกลั้นปัสสาวะ เพราะจะทำให้มีอาการมากขึ้น หลีกเลี่ยงอาหารและเครื่องดื่มที่กระตุ้นการขับปัสสาวะ เช่น ชา กาแฟ แอลกอฮอล์ อาหารเช่น อาหารรสจัดรวมไปถึงการหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่กระทบกระเทือนต่อมลูกหมาก เช่น การขี่จักรยาน แต่สามารถทำกิจกรรมทางเพศได้
- การใช้ยา ในรายที่มีอาการปัสสาวะลำบากมากขึ้น จนมีผลกระทบต่อวิถีชีวิตประจำวันและความเป็นอยู่ แพทย์จะให้ยาเพื่อบรรเทาอาการ เช่น
– ยาลดการหดเกร็งของกล้ามเนื้อต่อมลูกหมากและกล้ามเนื้อหูรูดที่คอกระเพาะปัสสาวะ เพื่อทำให้ถ่ายปัสสาวะได้คล่องขึ้น
– ยาช่วยทำให้ต่อมลูกหมากฝ่อลง โดยยาจะยับยั้งไม่ให้เทสโทสเตอโรนเปลี่ยนเป็นไดไฮโดรเทสโทสเตอโรน (Dihydrotestosterone) ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นให้ต่อมลูกหมากโต ทำให้ต่อมลูกหมากเล็กลงได้ประมาณ 30% เป็นต้น
- การทำหัตถการเพื่อการรักษา หรือ การผ่าตัด ในรายที่การใช้ยารักษาไม่ได้ผล และมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ปัสสาวะไม่ออกบ่อยๆ ปัสสาวะเป็นเลือด มีการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะบ่อยๆ แพทย์จะทำหัตถการเพื่อการรักษา หรือ การผ่าตัด ซึ่งมีอยู่ด้วยกันหลายวิธีได้แก่
– การขยายท่อปัสสาวะโดยการใส่ท่อคาไว้ (Prostatic stent) ซึ่งเป็นวิธีที่
เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่ผ่าตัดไม่ได้หรือ ปฏิเสธการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด
- การจี้ต่อมลูกหมากด้วยแสงเลเซอร์(Transurethral incision of the
prostate – TUIP) หรือการจี้ต่อมลูกหมากด้วยไฟฟ้า (Transurethral electro vaporization of the prostate – TUVP)
- การใช้คลื่นความร้อนเช่น คลื่นไมโครเวฟ (Transurethral Microwave
Thermotherapy of the Prostate – TUMT), คลื่นอัลตราซาวด์ (High-intensity focused ultrasound – HIFU), คลื่นวิทยุ (Radiofrequency vaporization) ผ่านเข้าไปที่ต่อมลูกหมากเพื่อทำให้เกิดความร้อนบริเวณต่อมลูกหมากจนเนื้อเยื่อตาย ต่อมลูกหมากก็จะฝ่อและเล็กลง ทำให้ผู้ป่วยปัสสาวะได้คล่องขึ้น
– การผ่าตัดโดยการใช้กล้องส่องผ่านท่อปัสสาวะ (Transurethral resection of the prostate – TURP) เพื่อเข้าไปตัดเอาชิ้นเนื้อส่วนที่เกินออกมาจากต่อมลูกหมาก
– การผ่าตัดโดยการเปิดเข้าหน้าท้อง (Suprapubic หรือ Radical retropubic prostatectomy – RRP) แต่ถ้าต่อมลูกหมากมีขนาดใหญ่มาก ก็อาจต้องทำการผ่าตัดแบบเปิดเข้าหน้าท้องเพื่อเอาเนื้อเยื่อส่วนเกินออกมา
นอกจากนี้ ก็จะเป็นการรักษาตามอาการ เช่น การให้ยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ การให้ยาบรรเทาอาการปวดเป็นต้น ส่วนผู้ที่ยังไม่ได้เป็นโรคต่อมลูกหมากโตและยังไม่มีอาการ ควรปฏิบัติตัวดังนี้
การป้องกันและปฏิบัติตัวเมื่อเป็นโรคต่อมลูกหมากโต
นอกจากปัญหา ต่อมลูกหมากโต จะรบกวนจิตใจและสุขภาพของคุณผู้ชายที่เริ่มเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ตอนปลายไปจนถึงวัยผู้สูงอายุแล้ว ยังมีโรคที่เกี่ยวข้องกับต่อมลูกหมากอีกมากมาย เช่น ต่อมลูกหมากอักเสบ เนื้องอกในต่อมลูกหมาก (ถ้ามีการลุกลามและแพร่กระจายจึงจะเป็น เซลล์มะเร็ง) ซึ่งเนื้องอกก็มีหลายชนิดด้วยกัน ทั้งชนิดธรรมดา และชนิดร้ายแรง ซึ่งอาการจะแตกต่างกันเล็กน้อย ดังนั้น การปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันโรคควรมีดังนี้ค่ะ
- ผู้ชายที่อายุ 40 ปีขึ้นไปที่มีอาการผิดปกติในการขับถ่ายปัสสาวะ เช่น ปัสสาวะไม่ค่อยออก ต้องเบ่งเวลาปัสสาวะ หรือ รอนานกว่าจะปัสสาวะจะไหลออกได้ หรือ ปัสสาวะที่ออกมาไม่ค่อยพุ่ง รวมถึงอาการผิดปกติต่างๆ ให้ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัยจะได้ทำการรักษาตั้งแต่แรกเริ่ม
- ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ ต้องควบคุมและดูแลอาการของโรคให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ เพราะมีผลต่ออาการรุนแรงของโรคต่อมลูกหมากโตได้
- โรคต่อมลูกหมากโต สัมพันธ์กับ อายุที่มากขึ้น การดูแลและป้องกันที่ดีที่สุด คือ หมั่นสังเกตอาการและการขับถ่ายปัสสาวะของตัวท่านเอง และที่สำคัญถึงแม้จะพบความผิดปกติเพียงเล็กน้อยให้เฝ้าระวังด้วยการไปพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกาย ดีกว่าปล่อยให้โรคหรืออาการลุกลามเพราะการรักษาก็จะยากมากขึ้นตามไปด้วย ส่วนการรักษาเบื้องต้น คือ การรับประทานยา เช่น ยาฮอร์โมนบำบัด เพื่อลดการเจริญเติบโตของเซลล์ต่อมลูกหมากและทำให้เซลล์ที่เติบโตผิดปกติฝ่อลง จนช่วยให้อาการปัสสาวะลำบากทุเลาลงนั่นเอง
ถึงแม้โรคต่อมลูกหมากโต จะไม่สามารถป้องกันได้ เพราะเป็นโรคที่เกิดจากความเสื่อมตามวัยในเพศชายตามธรรมชาติ และโรคต่อมลูกหมากถึงแม้เป็นแล้วจะรักษาไม่หายขาด แต่เราสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมร่วมกับการรักษาเพื่อให้อาการดีขึ้นได้ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ อย่ากลั้นปัสสาวะและ รีบมาตรวจรักษาเบื้องต้น
สิ่งสำคัญของการปฏิบัติตัวเพื่อให้ผู้ชายที่กำลังจะก้าวเข้าสู่ “วัยทอง” ให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุข คือ การรู้เท่าทันและมีความเข้าใจเกี่ยวกับ สุขภาพของเพศชาย เพื่อที่จะสามารถหมั่นสังเกต ดูแล บำรุงรักษา ร่างกายและสุขภาพของเราให้สมบูรณ์แข็งแรงที่สุด มีความสุขตามอัตภาพในชีวิตบั้นปลายไปจนถึงการมีวาระสุดท้ายอย่างสงบท่ามกลางครอบครัวและญาติมิตรที่อบอุ่นตลอดช่วงชีวิตนั่นเอง